016 : สิทธิของผู้เสียหาย หรือเหยื่ออาชญากรรม และสิทธิผู้ต้องหา

          สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาพ.ศ.2544
และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559

          1. หน้าที่ พงส. ต้องแจ้งสิทธิ ตาม “มาตรา 6/1 ในคดีที่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้เสียหายหรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายที่มาร้องทุกข์ ดังกล่าวทราบถึงสิทธิการได้รับค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัตินี้…”
          2. สิทธิของจำเลย ตามมาตรา 20 จำเลยที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ต้อง
             (1) เป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
             (2) ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และ
             (3) ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกรทำของจำเลยไม่เป็นความผิดในคดีที่มีจำเลยหลายคนจำเลยคนใดถึงแก่ความตายก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดและ คณะกรรมการเห็นสมควรจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ถ้าเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี จำเลยที่ถึงแก่ความตายนั้นมีสิทธิได้รับคำทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ได้ด้วย

สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาชั้นสอบสวน
          (1) สิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก (ป.วิ.อาญา มาตรา 7/1)
          (2) สิทธิที่จะพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
          (3) สิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติตามสมควร
          (4) สิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
          (5) สิทธิได้รับการแจ้งจากเจ้าพนักงานผู้จับว่าผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิ ตามข้อ 1 ถึง 4
          (6) สิทธิที่จะได้รับการสอบสวนโดยเร็ว และได้รับทราบการแจ้งสิทธิต่างๆ จากพนักงานสอบสวน (ป.วิ.อาญา มาตรา 134)
          (7) สิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำของผู้ต้องหา (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/3)
          (8) สิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/4)
          (9) สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับขู่เข็ญ ล่อลวง ให้สัญญาเพื่อให้การ (ป.วิ.อาญา มาตรา 135)
          (10) สิทธิของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนที่จะได้รับการสอบสวนคดีบางประเภทโดยมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานอัยการและทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/2)
          (11) สิทธิที่จะได้รับการประกันตัว (ป.วิ.อาญา มาตรา 84/ 1, 106)
          (12) สิทธิร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวหากมีการควบคุมตัวโดยมิชอบ (ป.วิ.อาญา มาตรา 90)
          (13) สิทธิได้รับการจัดหาทนายกรณีคดีมีอัตราโทษประหารชีวิต หรือผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปี และในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกหากผู้ต้องหาไม่มีทนายและต้องการทนาย พนักงานสอบสวนต้องจัดหาทนายให้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1)
          (14) สิทธิที่จะได้รับแจ้งถึงพฤติการณ์ และการกระทำที่ถูกกล่าวหา ก่อนการถูกแจ้งข้อกล่าวหา (ป.วิ.อาญา มาตรา 134)
          (15) สิทธิได้รับการจัดหาล่าม (ป.วิ.อาญา มาตรา 13)